อุตสาหกรรมยานยนต์

Solar Today Expo  » Industrial »  อุตสาหกรรมยานยนต์
0 Comments
อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในด้านมูลค่าเพิ่มในประเทศ การผลิต การส่งออก การลงทุน การจ้างงาน และมีความเชื่อมโยงกัยอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก ในปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นฐานการผลิตระดับโลกของรถยนต์ที่มีความเฉพาะ 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ รถปิกอัพ 1 ตัน รถจักรยานยนต์ขนาดเล็กคุณภาพสูง และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco car) นอกจากนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยสามารถส่งออกไปขายยังตลาดที่เข้มงวดในเรื่องมาตรฐานสินค้า เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอเมริกาได้ ตัวอย่างชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีศักยภาพในการส่งออก ได้แก่ เครื่องยนต์เบนซิน เครื่องยนต์ดีเซล ส่วนประกอบของเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและข้อเหวี่ยง ชุดสายไฟรถยนต์ หม้อแบตเตอรี่ ยาง ระจกนิรภัย ไฟรถยนต์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ เช่น กันชน เบรก เข็มขัดนิรภัย กระปุกเกียร์ เป็นต้น

          ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโรงงานประกอบรถยนต์ของผู้ผลิตชั้นนำเกือบทุกยี่ห้อจากทั่วโลก โดยมีผู้ประกอบรถยนต์จำนวน 12 บริษัท ผู้ประกอบรถจักรยานยนต์จำนวน 6 บริษัท และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า 2,300 ราย โดยในกลุ่มผู้ผลิตระดับ 1 จะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา หลายราย คิดเป็นแรงงานทั้งมดในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 525,000 คน

          ในปี 2555 อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีกำลังการผลิต (Capacity) เท่ากับ 2,675,000 คันต่อปีแบ่งเป็นกำลังการผลิตรถยนต์นั่ง 1,355,000 คันต่อปี รถปิกอัพ 1 ตัน 1,280,000 คันต่อปี และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 40,000 คันต่อปี

ขั้นตอนการผลิตหรือประกอบรถยนต์

          กระบวนการผลิตหรือประกอบรถยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม มีขั้นตอนหลัก 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.ผลิตตัวถัง (Body Shop) เป็นการนำชิ้นส่วนที่เป็นโลหะซึ่งได้ผ่านกระบวนการขึ้นรูป (Press Process Line) แล้วมาเชื่อมประกอบให้เป็นตัวถังรถ การเชื่อมประกอบให้ได้ตัวถังจะใช้อุปกรณ์ช่วยในการประกอบที่เรียกว่า จิ๊ก ซึ่งเป็นแท่นที่มีส่วนยึดจับชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน หลังจากการเชื่อมประกอบเป็นรูปตัวถังรถแล้ว จะต้องมีการใส่ชิ้นส่วนอื่นๆ เช่น บังโคลนหน้า ประดู ฝาหน้า จากนั้นจะเป็นการขัดแต่ง เพื่อให้จุดเชื่อมและรอยต่อต่างๆ มีความเรียบร้อย สวยงาม

2. การทำสีตัวถัง หลังจากที่ได้ตัวถังรถจากการเชื่อมประกอบแล้ว ตัวถังที่เป็นโลหะนั้นจะต้องนำมาพ่นสี สำหรับกระบวนการทำสีนั้นค่อนข้างซับซ้อน โดยสามารถสรุปเป็นขั้นตอน 6 ขั้นตอน ดังนี้

  • ขั้นตอนการล้างและเตรียมผิวเหล็ก
  • ขั้นตอนการชุบสีด้วยกระแสไฟฟ้า หรืออีพีดี
  • ขั้นตอนการหยอดกาว
  • ขั้นตอนการพ่นสีพื้น
  • ขั้นตอนการขัด
  • ขึ้นตอนการพ่นสีจริง

3.การประกอบรถยนต์ ตัวถังที่ทำสีแล้วจะนำมาประกอบเข้ากับชิ้นส่วนต่างๆ เช่น เครื่องยนต์ ยาง พวงมาลัย เบาะ ฯลฯ ในส่วนของการประกอบจะมีกระบวนการหลักๆ ดังนี้

  • การประกอบโครงรถ
  • การประกอบส่วนของตัวถังหรือหัวเก๋ง
  • การประกอบขั้นตอนสุดท้าย